Blogger นี้มีไว้ในการเรียนวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เท่านั้น


วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน มีสิ่งเคารพสูงสุด คือพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
                 ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ตามพระธรรมวินัย ที่ท่านเรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า                 พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของท่าน ชื่อพระธรรม                 หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อพระสงฆ์
                 มีผู้แต่งคำประพันธ์ไว้ว่า พระพุทธคือศาสดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคือคำกล่าว สั่งสอนชาวพุทธทั่วไป พระสงฆ์เราจงนพไหว้ เพราะสอนให้เรารู้ชั่วดี
                 พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ 3 ประการ คือ ประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นในปัจจุบันที่คนทั่วไปปรารถนามีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น ประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดีทำให้ชีวิตมีค่าและเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน อันได้แก่ สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง ผู้ได้บรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
                 การที่มนุษย์จะเข้าสู่เป้าหมายของพระพุทธศาสนาทั้ง 3 ประการ จะต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
                 ศีล คือ การสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย ได้แก่ การไม่มุ่งร้ายทำลายผู้อื่น ไม่ทุจริตฉ้อโกง ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่หลอกลวงกล่าวเท็จ และไม่เกี่ยวข้องสิ่งเสพติดให้โทษ
                 สมาธิ คือ การรักษาใจมั่น ได้แก่ การทำให้จิตใจสงบแนวแน่ ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ หรือการกำหนดจิตให้แนวแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ
                 ปัญญา คือ ความรอบรู้ในกองสังขาร ได้แก่ มีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้จักพิจารณาวินิจฉัยด้วยใจเป็นอิสระ ทำการต่างๆ ด้วยความคิดและวิจารณญาณ
                 พระพุทธศาสนาจึงเป็นหนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีคุณูปการอันใหญ่หลวงในทางจิตวิญญาณต่อมวลมนุษยชาติสร้างสันติสุขและสันติภาพอย่างแท้จริงตลอดช่วงเวลากว่า 2,500 ปีและในอนาคตสืบต่อไป

น่าหนักใจ บ้านเมืองชักไปกันใหญ่!


การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แม้จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเอาไว้อย่างแข็งขัน แต่หากทุกคนเอาแต่อ้าง สิทธิเสรีภาพอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสมอภาคและภราดรภาพ บ้านเมืองก็จะร้อนรุ่มไปด้วย "ไฟขัดแย้ง" ที่ลุกโชนเผาผลาญไปตลอดกาล 
          "เห่าไฟ" ขอย้ำว่า เห็นด้วยกับการชุมนุมทางการเมืองของ พลเมืองทุกกลุ่ม แต่ไม่มีวันยอมรับการใช้อภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย ปิดถนนละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าม็อบจะอ้างเหตุผลใดก็ฟังไม่ขึ้น เพราะแค่การทำให้ถูกกฎหมายจิ๊บๆ อย่าง กฎจราจร ยังทำไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรจะไปทำในสิ่งที่ถูกกฎหมายใหญ่ๆอย่าง กฎรัฐธรรมนูญ ได้เล่า 
          ส่วนสิ่งที่ "เห่าไฟ" เห็นว่า ชักจะไปกันใหญ่ ก็คือ การที่ ผู้นำกองทัพ ไฟเขียวให้ทหารเข้าไปร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล โดยอ้าง สิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่กลับไม่คำนึงถึงหลัก ภราดรภาพ ทั้งที่กองทัพจะต้องเป็น สถาบันหลัก ที่ดำรงสิ่งนี้เอาไว้เหนือพลเมืองโดยทั่วไป นอกจากนี้ หากทหารอีกกลุ่มอ้างสิทธิตามที่ผู้นำกองทัพไฟเขียวเอาไว้ โดยออกไปร่วมชุมนุมกับ ม็อบหนุนรัฐบาล อะไรจะเกิดขึ้นกับกองทัพ เคยคิดกันบ้างหรือไม่ 

          "เห่าไฟ" ขอย้ำว่า ทหารและข้าราชการทั่วทั้งแผ่นดิน มีหน้าที่จงรักภักดีต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ และปฏิบัติงานตาม นโยบายรัฐบาล เฉพาะเรื่องที่ไม่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น หากเป็นไปตามนี้ ข้าราชการทุกคนก็จะเป็นฝ่าย รักษาบ้านเมือง เอาไว้ได้ ส่วนพลเมืองจะขัดแย้งเพราะความเห็นแตกต่างกันอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นไปตาม ครรลองประชาธิปไตย แค่นี้สังคมไทยก็จะกลับมา ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนแล้ว 
          สำหรับการชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าฉลาดอ้างกันนัก ก็น่าจะอ้างให้หมด เพราะวรรคสองได้ให้ อำนาจรัฐจัดการตามกฎหมาย ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และยังมีอีกหลายมาตราที่คุ้มครองพลเมืองจากการ ถูกละเมิดสิทธิโดยผู้อื่น สามารถใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ 

          "เห่าไฟ" หยิบยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาอ้างถึงตรงนี้ ไม่ได้ต้องการให้ รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุม เพราะวิถีแห่งอารยชน จะไม่ใช้ความรุนแรงทุกกรณี แค่หยิบยกเหตุผลมาถกเถียงกันในที่สาธารณะก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับ ปัญญาชน เว้นแต่จะเป็น ซาดิสต์ชน กระหายเลือด วันๆ คิดแต่จะ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

          ข้อสำคัญ หลักการตามแนวทางแห่งกฎหมายเหล่านี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนไหวของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มริบบิ้นสีขาวต่อต้านความรุนแรง "เห่าไฟ" เชื่อมั่นว่า นักวิชาการคนนี้ จะเป็น แกนนำ ของการจุดกระแสสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนให้กลับคืนสู่ ความมีสติ และ ใช้ปัญญา แก้ปัญหามากกว่า อารมณ์ความรู้สึก ได้แน่นอน 
          พูดไปแล้ว ทำให้นึกถึง กระแสจตุคามรามเทพ เพราะอยู่ๆก็พุ่งทะลักจนสังคมไทยแทบกระอักอาเจียนแบบ ไร้เหตุผล วันดีคืนดี ก็เลิกเฉยเลย หลายคนถึงกับ มึนตึ้บ แม้จะรู้ว่าเป็นแค่ ความตื่นตาตื่นใจ ชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนชมดอกไม้ไฟ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะหันไปดูใช่ไหม แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆทุกคนก็จะ ชิน และ เลิกดูไปในที่สุด ก็เหมือน การเมืองข้างถนน ตอนนี้นี่แหละ 

          "เห่าไฟ" ถึงพยายามกระตุ้นเตือนพ่อแม่พี่น้องประชาชนมาตลอดว่า ให้ยึดมั่นกฎกติกาเป็นหลัก ใครจะพูดจาหวือหวาตื่นเต้นเร้าใจอย่างไร ก็แค่ดูๆไว้ก็พอ แต่สุดท้าย สิ่งที่จีรังยั่งยืนกว่าก็คือ กฎหมายบ้านเมือง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ก่อเกิดมาในสังคม จะต้องเป็นไปตาม หลักกฎหมาย ที่ถูกบัญญัติโดยประชาชนส่วนใหญ่ ใครที่ยึดมั่นกฎหมาย ก็จะมีชีวิตที่ อิสรเสรี มีเกราะแก้วคุ้มครองตลอดไป ส่วนใครที่ไม่เคารพกฎหมาย ก็จะมีชีวิตที่ สุดแสนอนาถตลอดไป 

          ตอนนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงก็คือ ปรับ ครม. เพื่อนำ นักบริหารระดับพระกาฬ เข้ามาสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักลงทุนในการแก้ปัญหาประเทศโดยด่วนที่สุด เรื่องนี้แม้จะเป็นข้อแนะนำจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ ก็จะรู้ได้เองว่า การผสานแนวคิดทุกฝ่ายเพื่อสร้าง รัฐบาลแห่งชาติทางความคิดขึ้นมานั้น จะทำให้เมืองไทยเกิด พลังมหาศาลอย่างแท้จริง 

ความกลัว

ความกลัวย่อมเกิดขึ้นและดำรงอยู่
ด้วยความนึกคิด ที่ไม่รู้จริง
เราจะเอาชนะความกลัว
ด้วยการพยายามไม่กลัวนั้นหาได้ไม่
เมื่อความกลัวเกิดขึ้นแล้ว
จงกล้าที่จะค้นให้พบว่าทำไม
ความกลัวเป็นเรื่องเกินความเป็นจริง
เมื่ออยู่กับความเป็นจริงเฉพาะหน้า
ก็ยังไม่มีอะไรต้องกลัว
จงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความกลัว
ความปรารถนาที่จะพ้นความกลัว
เป็นหนทางโน้มเอียงสู่ชีวิตนิรันดร์

ถ้ามนุษย์ไม่มีธรรมะ

ถ้าเอา ธรรมะออกไปแล้ว มนุษย์จะเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ไม่มีธรรมะแล้ว อันธพาลเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่มีความผาสุกเลย ในโลกสัตว์เดรัจฉานไม่มีอันธพาลอย่างนี้ ไม่มีอันธพาลขนาดที่ว่า เอาก้อนหินมาดักรถยนต์ให้สะดุดแล้วล้มคว่ำ แล้วก็มาปล้นเอาของในรถยนต์ ถอดเอาเสื้อผ้าของคนในรถเหลือแต่กางเกงในนั้น สัตว์เดรัจฉานทำไม่ได้”
พุทธทาส

28 ข้อคิดในการใช้ชีวิต

1.อย่าทำลายความหวังของใคร เพราะทั้งชีวิตเขาอาจเหลืออยู่แค่นั้นก็ได้
2.เมื่อมีคนเล่าว่าเขามีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญ จง เป็นผู้ฟังที่ดีอย่าไปคุยทับ อย่าไปขัดคอ
3.จงตั้งใจฟังให้ดี โอกาสทองบางทีมันก็มาถึงแบบแว่วๆเท่านั้น
4.หยุดอ่านคำอธิบายสถานที่ทางประวัติศาสตร์ตามทางบ้างเพราะมีอะไรดีๆบางอย่างซ่อนอยู่
5.จะคิดทำการใดจงคิดการให้ใหญ่เข้าไว้ แต่ให้เติมความสนุกสนานลงไปด้วยเล็กน้อย
6.หัดทำสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นจนเป็นนิสัยโดยไม่จำเป็นต้องให้เขารับรู้
7.จงจำไว้ว่า ข่าวทุกชนิดล้วนถูกบิดเบือนมาแล้วทั้งนั้น
8.เวลาเล่นเกมกับเด็กๆก็ปล่อยให้เด็กชนะไปเถอะ
9.ใครจะวิจารณ์เรายังงัยก็ตาม อย่าเสียเวลาไปโต้ตอบ แต่ให้ปรับปรุงตนเอง
10.จงให้โอกาสผู้อื่นเป็นครั้งที่ “สอง” แต่อย่าให้ถึง “สาม”
11.อย่าให้วิจารณ์นายจ้าง ถ้าทำงานไม่มีความสุขก็ลาออกดีกว่า
12.ทำตัวให้สบาย อย่าคิดมาก ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแล้วอะไรๆ มันก็ไม่สำคัญอย่างที่คิดไว้แต่แรกหรอก
13.ใช้เวลาให้น้อยๆในการคิดว่า”ใครผิด” แต่ใช้เวลาให้มากในการคิดว่า”อะไร” เป็นสิ่งที่ผิด
14.จงจำไว้ว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับ ” คนโหดร้าย ” แต่กำลังสู้กับ ” ความโหดร้าย ” ในตัวคน
15.โปรดคิด คิด คิด และคิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะให้เพื่อนเรามีภาระในการเก็บรักษาความลับ
16.ยอมที่จะแพ้ในสงครามย่อยๆ เมื่อการแพ้นั้นจะทำให้เราชนะในสงครามใหญ่
17.เป็นคนถ่อมตน จำไว้ว่าคนอื่นทำอะไรต่อมิอะไรสำเร็จกันมามากมายก่อนเราเกิดเสียอีก
18.ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายสักเพียงใด จงสุขุมเยือกเย็นเข้าไว้
19.มีมารยาทและอดทนกับคนที่สูงวัยกว่าเสมอ
20.อย่าให้ปัญหาของเราทำให้คนอื่นต้องเบื่อหน่าย ถ้ามีใครมาถามว่า ” เป็นไง?” ตอบไปเลยว่า ” สบายมาก”
21.อย่าพูดว่าเรามีเวลาไม่พอ เพราะทุกคนในโลกก็มีเวลาวันละ 24 ชม.เท่ากัน
22.จงเป็นคนใจกล้าและเด็ดเดี่ยว เมื่อเหลียวไปดูอดีต เราจะเสียใจในสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ มากกว่าเสียใจในสิ่งที่ทำไปแล้ว
23.ประเมินตนเองด้วยมาตรฐานตนเอง ไม่ใช่มาตรฐานคนอื่น
24.จริงจัง และเคี่ยวเข็ญต่อตนเองให้มาก แต่จงอ่อนโยนและผ่อนปรนต่อผู้อื่น
25.ให้ความนับถือแก่ทุกคนที่ทำงานเพื่อเลี้ยงชีพโดยสุจริต ไม่ว่างานนั้นจะดูแย่แค่ไหนในสายตาคนรอบข้าง
26.คำนึงถึงการมีชีวิตให้ ” กว้างขวาง ” มากกว่าการมีชีวิตเพื่อ ” ยืนยาว ”
27.(บางครั้ง) อย่าไปหวังเลยว่าในชีวิตนี้จะมีความยุติธรรม
28.ว่ากันว่ามี 3 สิ่งที่ไม่ควรถูกทำให้แตกหรือทำลาย ได้แก่ ของเล่นเด็ก คำสัญญาและจิตใจของใครๆ ก็ตาม

มีไปทำไม

บทความเตือนสติ คติเตือนใจอีกบท ที่ไปเจอมาทางอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับการ “มี” มีไปทำไม ถ้าไม่ได้ใช้ จึงเกิดความไม่พอดีขึ้นในชีวิต ลองอ่านกันดูครับ

มีเงินนับแสนล้าน แต่ใช้จริงวันละไม่ถึงร้อย
มีบ้านใหญ่โตอย่างกับวัง แต่อยู่กันแค่ 4 คน พ่อแม่ลูก
มีรถนับสิบสิบคัน แต่ใช้งานจริงแค่คันเดียว
มีเตียงใหญ่โตมโหฬาร แต่นอนเพียงแค่เต็มแผ่นหลัง
มีนาฬิกาแสนแพง แต่ไม่เคยทำอะไรตรงเวลา
มีเวลาอยู่ในโลกไม่ถึงร้อยปี แต่กลับแบ่งเวลาไปริษยาคนอื่น
มีกฏหมายนับพันมาตรา แต่มีอาชญากรอยู่เต็มเมือง
มี ส.ส. อยู่เต็มสภาพ แต่มาประชุมไม่เคยครบเลย
มีพ่อแม่อยู่ที่บ้าน แต่ไม่เคยปรนิบัติท่านเลย
มีอำนาจอยู่เต็มมือ แต่ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลย
มีภรรยาแสนดี แต่ไม่เคยแบ่งเวลาให้เธอเลย
มีลูกแสนน่ารัก แต่ไม่เคยโอบกอดลูกเลย
มีพระไตรปิฏกอยู่เต็มตู้ แต่ไม่เคยเปิดออกมาศึกษาเลย
มีวัดอยู่แทบทุกหมู่บ้าน แต่ศีลธรรมของสังคมแย่ลงทุกวัน
มีรองเท้าเป็นพันคู่ แต่ใส่จริงแค่วันละคู่
มีพี่น้องนับ สิบคน แต่แตกสามัคคีกันทุกคน
มีมือมีเท้าสมบูรณ์ แต่ไม่เคยลงแรงทำอะไรเลย
มีหูอยู่สองข้าง แต่ไม่เคยฟังธรรมเลย
มีตาอยู่สองข้าง แต่ไม่เคยมองหาสิ่งที่ดีเลย
มีเท้าอยู่สองข้าง แต่ไม่เคยเดินเข้าหาโอกาสเลย
มีปัญญาอยู่กับตัว แต่กลับใช้อารมณ์เป็นใหญ่

จะเห็นได้ว่าหลายสิ่ง แม้มีเราก็ไม่ได้ใช้ หลายสิ่ง แม้มีเราก็ไม่เห็นคุณค่า บทความนี้คงทำให้หลายคนฉุกคิดได้ว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่ “มี”

ไมเกรน..ป้องกันได้


ไมเกรนเป็นอาการปวดศรีษะที่พบได้บ่อย โดยในระยะเวลา 1 ปี พบอัตราความชุกของไมเกรนในผู้หญิงร้อยละ 18 ในผู้ชายร้อยละ 6 และในเด็กร้อยละ 4
โดยอาการของการปวดไมเกรนประกอบไปด้วย ปวดศรีษะร่วมกับอาการทางระบบประสาท อาการทางระบบทางเดินอาหาร และอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเกิดอาการไมเกรนครั้งแรกในช่วงอายุก่อน 30 ปี แต่ผู้ป่วยบางส่วนอาจจะมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 40-50 ปี ได้เช่นกัน การวินิจฉัยไมเกรนอาศัยลักษณะของอาการปวดศรีษะของผู้ป่วยร่วมกับอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ในปี 2004 ทาง HIS (International Heache Society) ได้จัดทำแนวทางในการวินิจฉัยโรคปวดศีรษะขึ้น นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ไมเกรนเป็นภาวะความเจ็บป่วยชนิดหนึ่งที่ทำให้สมรรถภาพในการทำงานของผู้ป่วยลดลงเป็นอย่างมาก

พยาธิกำเนิด
ไมเกรนเป็นความผิดปรกติในกลุ่มโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมด้วย โดยมีอาการทางระบบประสาทก่อนมีอาการปวดศีรษะไมเกรน (migrain aura) เดิมเชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดในสมองมีการหดตัวเกิดขึ้น หลังจากนั้นร่างกายมีการตอบสนองโดยการทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัว ซึ่งการขยายตัวของหลอดเลือดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะขึ้น

อาการ
อาการปวดศีรษะมีลักษณะสำคัญคือ มักมีอาการปวดข้างเดียวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการปวดตื้อๆ (ประมาณ ร้อยละ 85% ) การปวดมักเป็นมาก ปานกลาง ถึงรุนแรง และมักเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว ระยะเวลาของอาการปวดเกิดขึ้นได้นาน 4 ถึง 72 ชั่วโมง ในผู้ใหญ่ และประมาณ 2 ถึง 48 ชั่วโมง ในเด็ก นอกจากนี้ยังพบอาการเบื่ออาหารได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนอาการคลื่นไส้พบได้ประมาณร้อยละ 90 ในขณะที่อาการอาเจียนพบในผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ส่วน ภาวะที่ผู้ป่วยไวต่อสิ่งเร้าได้ง่ายขึ้นก็พบได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมีดและเงียบเพราะจะทำให้อาการปวดศีระษะดีขึ้น HIS แบ่งไมเกรนออกเป็น 2 กลุ่ม คือไมเกรนร่วมกับมีอาการนำมาก่อน ( migraine with aura) และไมเกรนที่ไม่มีอาการนำมาก่อน (migraine without aura)

การรักษาไมเกรน
เริ่มด้วยการให้การวินิจฉัยโดยแพทย์ ให้คำอธิบายลักษณะของโรคให้ผู้ป่วยทราบ และวางแผนการรักษาโดยพิจารณาอาการและความเจ็บป่วยอื่นที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ร่วมด้วย โดยสภาวะที่มักพบในผู้ป่วยที่ป่วยเป็นไมเกรน ได้แก่ stroke, โรคลมชัก, ความผิดปกติทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์คลั่ง ภาวะวิตกกังวล และ panic นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติทางจิตใจที่ทำให้เกิดความผิดปติระบบย่อยอาหาร เช่นท้องเสียจากภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ร่วมด้วยได้

การรักษาด้วยยา
แบ่งเป็นการรักษาแบบเฉียบพลันเพื่อบรรเทาอาการปวด หรือการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดไมเกรน การรักษาแบบเฉียบพลันใช้เพื่อหยุดหรือลดอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้น ส่วนการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดไมเกรนใช้เพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการไมเกรนแบบเฉียบพลันลง และช่วยให้ความรุนแรงของอากรปวดลดน้อยลงด้วย จากหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความทนต่อยาที่ใช้ในการป้องกันอาการปวดไมเกรน ทาง United States Headache Consortium ได้สรุป และจัดทำเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการไมเกรน คือ ควรให้การรักษาด้วยยาเพื่อป้องกันการเกิดไมเกรนในผู้ป่วยกรณีต่อไปนี้
    - มีอาการไมเกรนเป็นซ้ำๆ ซึ่งอาการไมเกรนที่เป็นมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แม้จะได้รับการรักษาแบบเฉียบพลันเพื่อบรรเทาอาการปวดแล้วก็ตาม เช่น เกิดอาการไมเกรนมากกว่า 2 ครั้งใน 1 เดือน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ แต่เวลาที่เกิดอาการจะรุนแรงมากจนผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้
    - ได้รับการรักษาด้วยยาแบบเฉียบพลันแล้วแต่ไม่ได้ผลในการรักษาหรือมีข้อห้ามใช้หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดแบบเฉียบพลัน
    - ใช้ยาบรรเทาอาการปวดมากเกินไป
    - ผู้ป่วยมีลักษณะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการทางระบบประสาท
    - มีอาการปวดศีรษะบ่อยมาก (มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์) และมีความเสี่ยงต่อการเกิด rebound headache 
    - เป็นความต้องการของผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยแบบป้องกันเพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการไมเกรนเฉียบพลัน

ยาที่ใช้รักษา
1. เป็นยาในกลุ่ม Beta-adrenergic blockers ได้แก่ propanolol, nadol, atenodol, metoprolol และ timolol ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนได้ แต่ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียงทางพฤติกรรมได้ เช่น ง่วงซึม อ่อนล้าง่าย, การนอนหลับผิดปกติ ฝันร้าย, ภาวะซึมเศร้า, ความจำเลวลง และประสาทหลอน ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จะต้องหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยไมเกรนที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย
2. ยารักษาโรคซึมเศร้า กลุ่ม tricyclic antidepressant, amitriptyline เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการไมเกรน อารข้างเคียงของยานี้คือ รับประทานอาหารเพิ่มขึ้น, ปากแห้ง, และง่วงซึม
3. ยากันชัก มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่ายากันชักสามารถนำมาใช้ป้องกันไมเกรนมากขึ้น เช่น sodium valproate, toprimate ซึ่งยาตัวนี้นอกจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรน ยังพบว่าการใช้ยาต่อเนื่องมีผลให้น้ำหนักตัวลดลงได้ (ซึ่งยาป้องกันไมเกรนตัวอื่นนั้นมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยา)

บทส่งท้ายโดยคณะ DMH Staff 
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมียาที่ใช้ป้องกันรักษาไมเกรนได้ แต่การมีพฤติกรรมสุขาภาพที่ดี เป็นเกราะป้องกันโรคที่ดีที่สุด นั่นคือ
    1. งดเว้นสิ่งเสพติด สุรา เครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด
    2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว การวิ่งจ๊อกกิ้ง การเต้นแอโรคบิค ว่ายน้ำ เป็นต้น โดยทำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
    3. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบถ้วน

แกะดำ

ไม่รู้เป็นเพราะ “ฮอร์โมน” ของ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บางคนเกิดความพลุ่งพล่าน จนควบคุมไม่ได้หรือเปล่า เลยมีผลทำให้องค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม กำลังเกิดความสับสนและมีปัญหาไม่จบสิ้น

แม้กระทั่งกระบวนการ “ทำประชาพิจารณ์” ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มักใช้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เพื่อสร้างความโปร่งใส ให้เกิดขึ้นกับการผลักดันโครงการต่าง ๆ แต่ทำไปทำมา กสทช. บางคน กำลังทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหา จนเกิดข้อครหาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ

ที่มาของเรื่องสืบเนื่องมาจาก “เวทีประชาพิจารณ์” ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ กสทช. เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา ถูกจัดขึ้น โดยได้รับความสนใจจากตัวแทนจากผู้ประกอบการ รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชน เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

งานนี้ “พ.อ.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ” รองประธาน กสทช.  และ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ยืนยันว่า เวทีที่จัดขึ้นเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นและจริงใจ ในการแก้ปัญหาและหามาตรการป้องกัน ’ซิมดับ“ ของ กสทช. รวมทั้งเปิดเวทีให้หลายฝ่าย ร่วมแสดงความเห็นต่อร่างมาตรการเยียวยาดังกล่าว

โดยยืนยันว่า ร่างมาตรการเยียวยาที่ กสทช. นำมาใช้นั้น คำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ’ซิมดับ“ เมื่อหมดสัญญาสัมปทาน

ส่วนตัวแทนจากผู้ประกอบการค่ายมือถือทุกค่าย มีความเห็นในแนวทางที่ตรงกันว่า กสทช. มีอำนาจในการออกร่างประกาศในการขยายเวลาการคุ้มครองผู้บริโภค หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ และควรให้ผู้ได้สัมปทานให้บริการต่อเนื่อง เพราะมีใบอนุญาตและอุปกรณ์อยู่แล้ว

รองประธาน กสทช. กล่าวภายหลังจากการทำประชาพิจารณ์ว่า จะรวบรวมความเห็นทั้งหมด และนำเข้าพิจารณาในการประชุมบอร์ด กทค. ในวาระต่อไป ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กสทช. ในวันที่ 14 ส.ค. นี้ เพื่อให้ทันต่อการบังคับใช้ ก่อนหมดระยะเวลาสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.

สอดคล้องกับความเห็นนักวิชาการ “ผศ.สุรวุธ กิจกุศล” รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งออกมายืนยันว่า กสทช. ในฐานะองค์กรดูแลบริหารจัดการคลื่น สามารถออกประกาศมาตรการเยียวยา ในลักษณะเช่นนี้ได้ และวิธีการมีผลดีต่อผู้บริโภคที่สุด คือ ให้ผู้ให้บริการรายเดิมดูแลลูกค้าต่อไปก่อนชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะระบบอุปกรณ์โทรศัพท์ที่ใช้ก็ยังเหมือนเดิม หากจะย้ายค่ายหรือใช้ค่ายเดิม ก็สามารถทำได้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี

ได้ข้อสรุปจากกระบวนการทำประชาพิจารณา บวกรวมกับความเห็นของนักวิชาการ เรื่องก็น่าจะจบ เพราะผู้บริโภคกำลังรอมาตรการเยียวยาจาก กสทช. อยู่ แต่กรรมการ กสทช. บางคน จะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ขึ้นมาใหม่ หลังจาก “นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กับ “น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์” 2 กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาเคลื่อนไหว ประกาศจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ทางเลือกการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อสัญญาสัมปทานบริการมือถือสิ้นสุด” วันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา

เลยมีคำถามว่า เวทีดังกล่าวต้องการหักล้าง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ทั้ง ๆ ที่เป็นการดำเนินการโดย กสทช. หรือต้องการถลุงงบประมาณ หวังจัดกิจกรรม สนองความต้องการของตนเอง โดยไม่สนใจว่า จะก่อให้เกิดความสับสน และสร้างผลกระทบกับประชาชน เนื่องจากผู้บริโภคกว่า 17 ล้านราย กำลังรอความชัดเจน และความช่วยเหลืออยู่

บอกตรง ๆ เห็นนี้เห็นการกระทำของ นพ.ประวิทย์ และน.ส.สุภิญญา ทำให้ผมเกิดคำถามว่า ขณะที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหา แต่กลับมี กสทช. บางคนมักออกมาขวางลำ เพื่อค้านทุกความคิดเห็น ทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมหรือส่วนตัวกันแน่ครับ.
เขื่อนขันธ์


คำว่า "แม่" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ว่า "หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้ดำเนิดหรือเลี้ยงดูตน" แต่ความเป็นจริงแล้ว ความหมายของคำว่า "แม่" มิได้หมายถึงหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูกเท่านั้น ทั้งนี้เพราะคำว่า "แม่" มีความหมายที่ยิ่งใหญ่และเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตของลูกๆทุกคน แม่เป็นทั้งครู เป็นทั้งพ่อและแม่ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตลูก
คำในภาษาไทยที่มีคำว่า "แม่" ประกอบอยู่ด้วย แบ่งออกเป็น ๖ ลักษณะ ดังนี้

๑. คำที่มีคำว่า "แม่" ประกอบอยู่หน้าคำ เพื่อใช้เรียกผู้หญิงที่ทำการบางอย่างหรือมีลักษณะบางอย่าง ได้แก่
แม่ค้า - ผู้หญิงที่ทำกิจการค้า
แม่ครัว - ผู้หญิงที่มีหน้าที่ปรุงอาหาร
แม่ชี - คำเรียกผู้หญิงที่นุ่งขาวห่มขาว โกนผม โกนคิ้ว ถือศีล
แม่ยก - ผู้หญิงที่เป็นผู้อุปถัมภ์พระเอกลิเก
แม่บ้าน - ผู้หญิงที่เป็นภรรยาของพ่อบ้าน, ผู้หญิงที่เป็นผู้จัดการงานในบ้าน, ผู้หญิงที่เป็นผู้จัดการงานในสถานที่ต่างๆ
แม่นม - ผู้หญิงที่ให้เด็กอื่นดื่มนมตนแทนนมแม่
แม่พระ - คำเรียกผู้หญิงทีี่มีจิตใจเมตตาปราณีชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นนิจ
แม่เพลง - ผู้หญิงที่เป็นต้นบทหรือหัวหน้าวงเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ
แม่สื่อ - ผู้หญิงที่ทำหน้าที่ชักนำเพื่อให้ชายหญิงได้แต่งงานกัน
แม่เหย้าแม่เรือน - ผู้หญิงที่เป็นผู้ดูแลบ้านเรือน
แม่เล้า - ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าซ่องโสเภณี, ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าควบคุมดูแลเลี้ยงหญิงสาวไว้บำเรอชาย
แม่ม่าย - ผู้หญิงที่มีสามีแล้ว แต่สามีตายหรือหย่าร้างกันไป
แม่ม่ายทรงเครื่อง - แม่ม่ายที่มั่งมีเงินทอง
แม่ยาย - แม่ของภรรยา
แม่ร้าง - ผู้หญิงที่เลิกกับสามี
แม่รีแม่แรด - ผู้หญิงที่ทำเจ้าหน้าเจ้าตา
แม่ยั่วเมือง - คำเรียกพระสนมเอกในสมัยโบราณ
แม่อยู่หัว - คำเรียกพระมเหสี
แม่คุณ - คำพูดเอาใจหญิงหรือแสดงความเอ็นดูรักใคร่
แม่คู่ - นักสวดผู้ขึ้นหน้าบท
แม่งาน - หัวหน้าผู้รับผิดชอบในงานบางอย่าง
แม่เจ้า - คำเรียกเมียพ่อเมืองหรือเจ้าผู้ครองนคร
แม่เ้จ้าประคุณ - คำเรียกแสดงความรักใคร่หรือประชดประชันแล้วแต่น้ำเสียง
๒. คำที่มีคำว่า "แม่" ประกอบอยู่หน้าคำที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ ได่แก่
แม่แคร่ - กรอบไม้หรือไม่ไผ่ประกับปคร่ทั้ง ๔ ด้าน
แม่กระได - ไม้ยาว ๒ อัน ที่ขนาบสำหรับสอดใส่หรือตีลูกบันได
แม่บท - หัวข้อใหญ่ เช่น ยกบาลีขึ้นมาเป็นแม่บท หลัก เช่น โครงการแม่บท ท่าที่เป็นหลักของการรํา
แม่เตาไฟ - ไม้สี่เหลี่ยมที่เป็นกรอบกรุดินสำหรับวางก้อนขี้ลา เกียง หรือเตาวง
แม่ปะ - ชื่อเรือขุดชนิดหนึ่งคล้ายเรือชะล่า แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่า ท้ายต่อไม้นกงอนสูงขึ้นคล้ายหางแมงป่องมักใช้ถ่อ
แม่พิมพ์ - สิ่งที่เป็นต้นแบบ เช่น แม่พิมพ์ตัวหนังสือ
แม่แรง - เครื่องสำหรับดีดงัดหรือยกของหนัก
แม่วี - คอกจับช้างขนาดเล็ก
แม่สี - กลุ่มสีที่สามารถผสมออกมาเป็นสีอื่นๆได้ทุกสี มี ๕ สี คือ แดง เขียว เหลือง ดำ ขาว เรียกว่า "เบญจรงค์"
แม่เหล็ก - แร่หรือโลหะที่มีคุณสมบัติดูดเหล็กได้
แม่หินบด - แท่งหินสี่เหลี่ยมหรือกลม มีร่องด้านข้างโดยรอบสำหรับบดยาคู่กับลูกหินบด
๓. คำที่มีคำว่า "แม่" ประกอบอยู่หน้าคำ เพื่อยกย่องเทวดาหรือผีที่ดูแลรักษาหรือเข้าทรง ได้แก่
แม่ซื้อ - เทวดาหรือผีที่เชื่อว่าเป็นผู้ดูแลรักษาทารก
แม่มด - ผู้หญิงที่ใช้เวทย์มนต์บังคับภูตผีให้ช่วยทำอะไรบางอย่างที่ผิดปกติธรรมดาได้ ผู้หญิงที่ทรงเ้จาเข้าผี
แม่ย่านาง - ผีผู้หญิงประจำเรือ
แม่ศรี - ชื่อการละลเ่นสมัยโบราณอย่างหนึ่งโดยเชิญผีแม่ศรีมาเข้าทรงหญิงสาว หญิงสาวที่ถูกผีเข้าทรงจะรำได้อย่างสวยงาม นิยมเล่นในเทสกาลสงกรานต์
๔. คำที่มีคำว่า "แม่" ประกอบอยู่หน้าคำ เพื่อยกย่องเทวดา ได้แก่
แม่พระคงคา - เทพธิดาประจำน้ำ, เจ้าแม่แห่งน้ำ
แม่พระธรณี - เทพธิดาประจำแผ่นดิน, เจ้าแม่แห่งแผ่นดิน
แม่โพสพ - เทพธิดาประจำข้าว, เจ้าแม่แห่งข้าว
๕. คำที่มีคำว่า "แม่" ประกอบอยู่หน้าคำที่เป็นสัตว์ และธรรมชาติ ได้แก่
แม่กระแชง - ปลาสลิดแห้งชนิดใหญ่
แม่หนัก - ช้างพังที่เป็นหัวหน้าโขลง
แม่เบี้ย - 
แผงคองูที่แผ่ออกและชูขึ้น
๖. คำที่มีคำว่า "แม่" ประกอบอยู่หน้าคำ เพื่อใช้เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนาย และเป็นแบบอย่าง ไม่จำกัดว่าเป็นหญิง หรือชาย ได้แก่
แม่ทัพ - ผู้มีหน้าที่คุมกองทัพ เช่น แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ แม่ทัพภาค
แม่พิมพ์ - ครู อาจารย์ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างความประพฤติของศิษย์

ที่มา : วารสารวัฒนธรรมไทย ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๘ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓

คนไทยได้ (หรือไม่ได้) อะไรจากประชาคมอาเซียน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ผู้แทนกรมอาเซียนได้เข้าร่วมโครงการบัวแก้วสัญจรของกระทรวงการต่างประเทศ และการสัมมนากับชุมชนและสื่อมุสลิม ณ มัสยิดอะมะดียะฮ์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยได้บรรยายเรื่อง “คนไทย ได้ (หรือไม่ได้) อะไรจากประชาคมอาเซียน” มี รายละเอียด ดังนี้
1. การสร้างประชาคมอาเซียน ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีข้อตัดสินใจร่วมกันว่า ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม 2558  ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง (“มั่นคง”) ประชาคมเศรษฐกิจ (“มั่งคั่ง”) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (“เอื้ออาทรและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง”) ไทยยังให้ความส าคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) 3 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบ และด้านประชาชน และได้ผลักดันขยายการเชื่อมโยงดังกล่าวไปยังประเทศคู่เจรจาในกรอบอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) โดยได้รับรองเอกสาร ASEAN+3 Partnership on Connectivity ด้วย
2. ความสำคัญของอาเซียนกับประเทศไทย อาเซียนเป็นวาระแห่งชาติและเป็นหัวใจของนโยบายการต่างประเทศของไทย โดยได้ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศไทยและไทยได้มีบทบาทนำในหลายประเด็นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงตลอด 45 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีการดำเนินกิจกรรมที่สะท้อนผลประโยชน์ ทั้งเรื่องการเชื่อมโยงการแก้ไขและเตรียมรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ และการจัดการภัยพิบัติ ฯลฯ ไทยย่อมจะได้รับผลพวงที่ดีจากการกรมสารนิเทศสร้างประชาคมอาเซียนโดยรวมทั้ง 3 ด้าน อันจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของไทยในเวทีโลก
3. ด้านการเมืองและความมั่นคง การดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเพื่อให้ภูมิภาคมีสันติภาพและความมั่นคง อาเซียนแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาลักษณะข้ามชาติ และเพิ่มอำนาจการต่อรอง
อดีตเอกอัครราชทูตหรือการเจรจากับประเทศ/กลุ่มประเทศต่างๆ และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำได้รับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียน
4. ด้านเศรษฐกิจ การดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ช่วยเพิ่มพูนการค้า การลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน ขยายตลาดการค้า ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดและดึงดูดนักลงทุนจากภายนอก ลดต้นทุนการผลิต (วัตถุดิบ แรงงาน และเงินทุน) การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ และได้รับประโยชน์จากการจัดทำเขตการค้าเสรี โดยจะเริ่มเจรจาการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบรอบด้านกรมสารนิเทศในภูมิภาค(Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ที่มีเขตการค้าเสรีกับอาเซียนอยู่แล้ว (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ในช่วงต้นปี 2556 โดยให้แล้วเสร็จในปี 2558
5. ด้านสังคมและวัฒนธรรม การดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะช่วยเร่งหรือกระตุ้นเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ การส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิการสังคม การแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อสังคม เช่น โรคระบาด ยาเสพติด การค้ามนุษย์ รวมทั้ง สร้างความร่วมมือในการลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นต้น
หัวใจสำคัญคือ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติต่างๆ อย่างรอบด้านในทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนโดยคงยังเหลือเวลาอีกไม่มากนัก