Blogger นี้มีไว้ในการเรียนวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เท่านั้น


วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน มีสิ่งเคารพสูงสุด คือพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
                 ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ตามพระธรรมวินัย ที่ท่านเรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า                 พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของท่าน ชื่อพระธรรม                 หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อพระสงฆ์
                 มีผู้แต่งคำประพันธ์ไว้ว่า พระพุทธคือศาสดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคือคำกล่าว สั่งสอนชาวพุทธทั่วไป พระสงฆ์เราจงนพไหว้ เพราะสอนให้เรารู้ชั่วดี
                 พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ 3 ประการ คือ ประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นในปัจจุบันที่คนทั่วไปปรารถนามีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น ประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดีทำให้ชีวิตมีค่าและเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน อันได้แก่ สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง ผู้ได้บรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
                 การที่มนุษย์จะเข้าสู่เป้าหมายของพระพุทธศาสนาทั้ง 3 ประการ จะต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
                 ศีล คือ การสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย ได้แก่ การไม่มุ่งร้ายทำลายผู้อื่น ไม่ทุจริตฉ้อโกง ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่หลอกลวงกล่าวเท็จ และไม่เกี่ยวข้องสิ่งเสพติดให้โทษ
                 สมาธิ คือ การรักษาใจมั่น ได้แก่ การทำให้จิตใจสงบแนวแน่ ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ หรือการกำหนดจิตให้แนวแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ
                 ปัญญา คือ ความรอบรู้ในกองสังขาร ได้แก่ มีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้จักพิจารณาวินิจฉัยด้วยใจเป็นอิสระ ทำการต่างๆ ด้วยความคิดและวิจารณญาณ
                 พระพุทธศาสนาจึงเป็นหนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีคุณูปการอันใหญ่หลวงในทางจิตวิญญาณต่อมวลมนุษยชาติสร้างสันติสุขและสันติภาพอย่างแท้จริงตลอดช่วงเวลากว่า 2,500 ปีและในอนาคตสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น